คุณชอบประเทศไทยไหม
หนึ่งในคำถามที่คุณจะต้องถูกถามอย่างแน่นอนภายในวันหรืออาทิตย์แรกที่มาถึงเมืองไทย
“คุณชอบประเทศไทยมั้ย”
จะให้คุณพูดว่าอะไร ผมหมายถึงคุณมาที่นี่เพื่อเที่ยวพักผ่อนหรือไม่ก็ทำงาน คุณเพิ่งมาถึงและก็มีเวลาอย่างน้อยอีกสองปี
“ไม่ ผมเกลียดที่นี่สุดๆ ร้อนมาก สกปรกมาก ผู้คนก็ช่างซัก และเบียร์ก็ใส่น้ำแข็ง” นี่ไม่ใช่สิ่งที่ผมจะตอบแน่นอน
ในขณะที่ผมเริ่มต้นเขียนอยู่นี้ ผมนั่งอยู่ที่โต๊ะ นึกถึงว่าถ้าเป็นตอนนี้แล้วผมควรจะตอบคำถามพวกนั้นอย่างไร หลายอย่างเปลี่ยนไปมากภายในสามสิบปี เมื่อถามคำถามหลังจากที่เพิ่งมาถึงและอยู่ในประเทศได้เพียงไม่กี่เดือน ผมก็โลกสวยเห็นทุกสิ่งสวยงาม และประเทศนี้ไม่ต่างจากสวรรค์บนดิน มีอะไรอื่นๆอีกที่ผมจะอยากได้ ผมมีโอกาสใช้เวลาหนึ่งวันและหนึ่งคืนในเมืองหลวงที่ระทึกครึกโครมที่สุดเมืองหนึ่งของโลกในขณะนั้น แล้วก็ได้ผ่อนคลายอย่างเต็มที่ถึงหนึ่งเดือนที่ชายทะเล ผมได้เริ่มทำงานในสถานที่สวยงาม ได้พบป่ะผู้คนที่ยอดเยี่ยม แล้วบางคนก็กลายเป็นเพื่อนที่มีมิตรภาพอันยาวนานที่ดีต่อกัน แน่นอนตอนนั้นผมยังไม่มีโอกาสได้เรียนรู้มากนัก และไม่ได้รู้อะไรเกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ หรือคอรัปชั่น และอะไรอื่นๆ ผมว่าสำหรับผู้มาใหม่ วิธีที่ดีที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงการตอบ คือมีสติและสงบปาก แทนที่จะประกาศก้องว่าประเทศนี้ยอดเยี่ยม สวยงาม และผู้คนดีเยี่ยมแค่ไหน ตรงกันข้ามซึ่งดีพอๆกันคือการสงบปากไม่วิพากษ์วิจารณ์ หรืออะไรก็ตามที่อาจถูกตีความเช่นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ ดีที่สุดคือวางตัวเป็นกลาง และนั่นก็คือสิ่งที่ถูกต้องที่คุณควรทำ
ยากที่จะหาคำตอบ
ยิ่งผมย้อนกลับไปอ่านประโยคตอนต้นเหล่านั้น ยิ่งยากที่ผมจะเขียนต่อหรือใส่เนื้อหาที่ถูกต้อง ในตลอดหลายปีที่ผ่านมาผมได้เรียนรู้การทำตัวไปตามน้ำ การตอบคำถามโดยไม่ต้องมีคำตอบ การอ่านนัยจากบทสนทนา และบ่อยครั้งมากพอที่จะมุ่งความสนใจไปทางอื่น เมื่อบทสนทนาเริ่มไม่ใช่อะไรที่ผมอยากคุยต่อ
มีหลายครั้งที่คนขับแท็กซี่พูดถึงชีวิตที่ดี และความสงบสุขกับวิถีชีวิตในต่างจังหวัด พวกเขาคาดหวังจะหาเงินได้มากพอที่จะส่งลูกๆเข้าโรงเรียนดีๆ แล้วกลับมาทำงานในจังหวัดบ้านเกิดของตนในที่สุด ผู้คนที่อาศัยอยู่ในชนบท ดูจะมีชีวิตที่มีความสุขกายสบายใจมากกว่า ชีวิตที่ปราศจากความรีบเร่ง วุ่นวาย กดดัน ไร้สิ่งอุปโภค–บริโภคที่ฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น แต่ในช่วงต้นยุคเก้าศูนย์ ทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนไป การพัฒนาอย่างรวดเร็วของระบบอุตสาหกรรม โครงการใหญ่ๆร้อยล้านพันล้าน แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนโดยรวม แค่คนกลุ่มเดียวในสังคมที่จะกอบโกยความสุข จากราคาที่ดินพุ่งที่สูงเฉียดฟ้า สินบนจากงบประมาณของรัฐบาล และการเติบโตที่ไม่ได้รับการควบคุม แล้วก็มาถึงการล่มสลายของเศรษฐกิจอาเซียน บทสนทนาในรถแท็กซี่เปลี่ยนไป อารมณ์ที่มืดหม่นกับคำพร่ำบ่นที่มากขึ้นกับสถานการณ์ เด็กยุคใหม่เกิดและเติบโตไปพร้อมๆกับความฟุ้งเฟ้อ ทุกอย่างกลายเป็นสินค้าเปลือกและฟุ่มเฟือย ยุคที่ของเล่นเทคโนโลยีและการย่อโลกกลายเป็นเรื่องที่กลายเป็นบรรทัดฐานทำตามกัน ไม่มีใครกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของมัน สิ่งไม่สำคัญกลับกลายเป็นกระแส ในขณะที่ยังมีความวิริยะอย่างมืดบอดของคนหัวโบราณที่ดื้อดึงพยายามที่จะรักษาระบบการศึกษาผลิตปริญญาบัญฑิตที่่ไม่สามารถแม้กระทั่งจะวิเคราะห์ ประมวล ตั้งคำถาม สืบหาข้อเท็จจริง หรือกล้าจะท้าทายข้อกังขาต่างๆ พวกเราทุกคนตระหนักดีถึงประวัติศาสตร์หลังจากนั้น ตั้งแต่ต้นศตวรรษนี้จนถึงปัจจุบัน และด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้เป็นเรื่องยากที่ผมจะหาคำตอบให้กับคำถามในตอนต้น
พบกับคำตอบในร้านกาแฟ
ที่จริงผมควรจะเรียบเรียงประโยคใหม่ และบางทีผมอาจให้คำตอบที่สมบูรณ์ขึ้น ในขณะที่ผมนั่งอยู่ในคอฟฟี่ช็อปที่เวียงจันทร์ เมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กำลังเขียนส่วนที่เหลือของตอนนี้ มีเหตุการณ์ที่ทำให้ผมสามารถเขียนตอนจบได้อย่างต้องการ ผมถามตัวเองว่าอะไรที่เปลี่ยนแปลง แน่นอน ทัศนคติ เศรษฐกิจและพลเมือง อาจจะมีคนรุ่นปู่ย่าตายายที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัดที่จะพิสูจน์ว่าผมคิดผิด แต่ ณ ขณะนี้ที่ผมนั่งเขียนอยู่นั้น มีคนกลุ่มหนึ่งเดินเข้ามานั่งที่โต๊ะถัดจากผม มีคนนั่งอยู่เต็มราวๆสิบคน และโดยเสียงที่กระทบโสตประสาท ผมสามารถบอกได้ว่าพวกเขามาจากอีกประเทศทางตอนใต้ของลาว ประเทศที่ผมเรียกว่าบ้านและได้พำนักอยู่กว่าสามสิบปี และเมื่อกลุ่มคนรายล้อมโต๊ะนั้นทวีจำนวนมากขึ้น พิธีกรรมเซลฟีก็เริ่มขึ้นด้วยการกวาดแกว่งมือถือถ่ายไปมา เรื่องปกติรึ ไม่ใช่แล้วกระมัง ระยะห่างที่ไม่มากพอ มือถือเริ่มขยับมุมกระเถิบใกล้เข้ามา จนปาดผ่านหน้าและโน้ตบุคของผมโดยไม่มีการขอโทษแต่อย่างใด ผมเงยหน้าขึ้นมอง แต่ไม่มีปฏิกิริยาตอบรับใดๆ แค่สีหน้าโง่ๆของพวกบ้าเซลฟีและกลุ่มคนบนโต๊ะนั้น
นั่นคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลง
มันเหมือนไม่เหลือแล้วการเคารพสิทธิของผู้อื่น การรู้จักกาลเทศะที่ถูกที่ควรและผลกระทบจากการกระทำของตน ที่นี่มีแต่ “ตัวฉัน” “ของฉัน” และ “ฉัน” ถูกแทนที่สิ่งซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีความสำคัญ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ถ้อยทีถ้อยอาศัย สังคมและวัฒนธรรมที่อันควร การให้ความเคารพกฏกติกามารยาทของสังคมส่วนรวม ตอนนี้ทุกอย่างมันสำคัญแค่การถ่าย “เซลฟี” และ “มองฉันสิ” โดยไม่ยี่หระต่อสิ่งใดๆหรือผู้คนรอบตัว ผมไม่ใช่พวกบ้าสร้างภาพที่สวยงามคิดว่าทุกอย่างในอดีตสวยงาม ยังมีอะไรที่ผมสามารถวิจารณ์ได้อีกมาก แต่นี่คือสิ่งแท้จริงที่เปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนไปในทิศทางที่แย่ลง
ใช่ ผมสามารถได้ยินการกู่ร้องประสานเสียง “คุณมันก็แค่คนนอก คิดว่าตัวคุณเป็นใคร ถึงหาญกล้ามาวิจารณ์วิถีของพวกเรา” หรือ “หลายประเทศเปลี่ยนพลิกเป็นหน้ามือ ทำไมไม่กลับไปพัฒนาปรับเปลี่ยนแคนาดาประเทศของคุณเองเสียก่อน” กับคำวิจารณ์เหล่านั้นทั้งหมด ผมตอบว่า “ใช่ บางทีพวกคุณอาจพูดถูก แต่อย่าลืม ผมเรียกประเทศนี้ว่าบ้านของผมมากว่าสามสิบปี ผมได้เห็น ได้เรียนรู้ ได้พักพิงอาศัยมาตลอดการเปลี่ยนแปลงพลิกผลัน ผมไม่ใช่แค่ ‘ผู้มาเยือน’ ที่มาเยี่ยมเยือนแค่สี่อาทิตย์และก็พล่ามว่ารู้ดีไปเสียทุกอย่าง นี่ไม่ใช่ ‘ผมและพวกเขา’ หรือ ‘ผมกับคุณ’ แต่ในทางกลับกันคือ ‘พวกเรา’ และความเห็นในการเปลี่ยนแปลงที่ผมได้สังเกตการณ์ มันทำให้ผมเศร้าใจที่เห็นพวกเราถูกครอบงำด้วยความโลภ ไร้จิตสำนึก เห็นแก่ตัว ผมเศร้าใจกับการเห็นความถดถอยของประเทศชาติ ความเจริญรุ่งเรือง ศิลปะ ภาษา และวัฒนธรรม ความสวยงามของธรรมชาติ การเคารพสิทธิของผู้อื่น และยิ่งกว่านั้น การรู้จักความผิดชอบชั่วดี
สิ่งที่น่ารำคาญและขุ่นเคืองใจคือ ผมใช้เวลาหลายสิบปีอาศัยอยู่ในประเทศนี้ มามากกว่าหลายคนที่ช่างซักเหล่านั้น หรือพวกที่ชักสีหน้าใส่ผมที่บังอาจมีความเห็น และยังต้องทนกับคำพูดเสียดสีวิจารณ์ “เชอะ คุณมันก็แค่คนต่างชาติ จะมาเข้าใจอะไร อย่าทำเป็นรู้ดี”