เรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทย

ken at coop the early years

ช่วงปีแรก ๆ …

สามสิบปีแล้วและก็ยังนับกันต่อไป

ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาผมมีความคิดเล่นๆกับการอยากบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของผมในประเทศไทย นับมาได้ราวสามสิบปีแล้วและก็ยังนับกันต่อไป บางครั้งมันก็ตลกดีที่ได้เห็นปฏิกิริยาของคนที่ถามผมว่าผมอยู่เมืองไทยมานานแค่ไหนแล้วและผมก็ตอบว่าบางทีอาจจะมากกว่าอายุของเขาเสียอีก กับเพื่อนบางคนผมอาจจะทำลิสต์ชื่อคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยที่พวกเขารู้ว่าอยู่มานานกว่าผม แน่นอนเขาเหล่านั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่จำนวนก็เริ่มลดลงเรื่อยๆเมื่อนับจำนวนผู้ที่อยู่ได้ถึงหรือมากกว่าสามสิบสี่สิบปี

เมื่อไม่นานมานี้ผมเริ่มทำบล็อก และเรื่องที่คุณกำลังอ่านอยู่ขณะนี้ก็คือส่วนหนึ่งของบล็อกkensdaysandtravels” นั่นแหละ หลักๆก็คือผมอยากจะแชร์เรื่องราวการเดินทางตลอดหลายปีที่ผ่านมาของผม การท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องและยาวนานไปยังทวีปอเมริกาใต้ รวมถึงการเดินทางก่อนหน้านี้ที่ไปทวีปแอฟริกา ยุโรป เอเชีย จะว่าไปก็ทุกที่นั่นแหละยกเว้นทวีปแอนตาร์กติก และในขณะที่ผมเริ่มเขียนเรื่องเหล่านี้ ผมก็เริ่มคิดว่าผมน่าจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับเมืองไทยได้มากพอควรทีเดียว การมีบล็อกที่เขียนถึงสองเรื่องในหนึ่งอาทิตย์นั้นแน่นอนย่อมต้องใช้ข้อมูลมาก บางทีมันอาจจะถึงเวลาแล้วที่จะนำข้อมูลตลอดสามสิบกว่าปีที่อยู่ในประเทศนี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการเขียนเรื่องลงบล็อกของผม การเริ่มต้นที่น่าจะดีที่สุด แน่นอนว่าควรจะเป็นว่าผมมาอยู่เมืองไทยอย่างไรและทำไมและบางทีนั่นก็คือจุดที่ผมจะเริ่มต้นเล่าเรื่องราว แต่บางครั้งการจัดลำดับก่อนหน้าหลังของเรื่องที่จะเขียนนั้นช่างยากยิ่ง และผมก็อาจจะเล่าเรื่องสลับกันโดยไม่ตั้งใจจากเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นสลับกับเรื่องเมื่อชาติที่แล้วก็เป็นได้

thewet pier

แม่น้ำเจ้าพระยา พ.ศ. 2530 ใกล้ท่าเรือเทเวศน์

สิทธิ์แสดงความเห็น

แรกเริ่มที่ผมเขียนบทนี้ ผมว่าจะแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับบางหัวข้อทางการเมือง บางมุมมองเกี่ยวกับศาสนา และการได้เห็นพฤติกรรมแปลกๆของความเป็นไปของสังคมที่ผ่านมาและปัจจุบัน ผมเขียนไปได้สองสามย่อหน้าแล้วแหละ แต่ในที่สุดผมก็ตัดสินใจว่าตอนนี้อาจไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะกับการแสดงความเห็นที่ตรงไปตรงมาอย่างสุดขั้วต่อประเด็นเหล่านั้น บางทีผมอาจเขียนถึงเรื่องพวกนั้นต่อไปในอนาคต และเก็บรวบรวมบันทึกพวกนั้นไว้ใช้สรุปในตอนท้ายแทน ยังมีอีกหลายประเด็นและเรื่องราวที่ผมอยากหยิบยกมาเขียนถึง และเมื่อเรื่องราวดำเนินไป ผมก็จะค่อยๆเผยหัวข้อเหล่านั้นออกมาทีละนิด ถึงแม้ประเด็นเหล่านั้นมันอาจจะไม่มีผลอะไรต่อผม แต่อย่างน้อยผมก็ได้แสดงความคิดและความเห็นเกี่ยวกับมัน ซึ่งความคิดเห็นและทัศนคติของผมนั้นอาจจะแตกต่างโดยไม่ตั้งใจจากมุมมองของนักท่องเที่ยวผู้ซึ่งเพิ่งมาเยือนหรือความสวยงามอย่างสมบูรณ์แบบในแผ่นโปสเตอร์โฆษณาเชื้อเชิญของการท่องเที่ยว แต่นี่แหละที่เขาเรียกว่าความคิดเห็นและบทเขียนเรื่องราวเหล่านี้ ไม่ว่าจะประเทศ สถานการณ์และ ประเด็นต่างๆ ได้เปลี่ยนผันไปอย่างมากมายในตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา และผมจะบรรยายเกี่ยวกับการเปลี่ยนผันบางส่วนเหล่านั้น และถ้าหากพวกเขาจะรับไม่ได้กับความคิดและมุมมองที่ผมมี นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาที่ผมจะต้องกังวล ผมว่าการอยู่ในประเทศนี้มากว่าสามสิบปี ผมน่าจะสามารถแสดงมุมมองและความคิดเห็นในฐานะคนวงในได้ไม่มากก็น้อย และนั่นก็ควรเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของผมที่จะสามารถมีสิทธิ์แสดงความเห็น

canal life ratchaburi

ชีวิตคลองแสนสุขด้วยอวนประมงราชบุรี, 2531

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

ผมโชคดีมากที่มาถึงประเทศไทยก่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากประเทศระบบเกษตรกรรมเข้าสู่ระบบที่ขับเคลื่อนด้วยแรงผลักดันจากอุตสาหกรรม การค้าและการท่องเที่ยว ใช่ การท่องเที่ยว ในปี 1986 จำนวนของผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาเที่ยวประเทศไทยอาจจะยังมีจำนวนแค่หลักล้านต้นๆ แต่ในช่วงยุค 1990 ความสำเร็จอย่างล้นหลามจากการรณรงค์การท่องเที่ยวได้ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มทวีคูณเป็นสิบล้านกว่าต่อปี และปัจจุบันเพิ่มขึ้นถึงเกือบยี่สิบล้านคน ประกอบกับการเติบโตอย่างรวดเร็วของระบบอุตสาหกรรม และปัจจัยหลักอื่นๆอีก ส่งผลให้โฉมหน้าของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงระหว่างปี 1986 และกลางยุค 90s และยังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ใช่เฉพาะแค่ระบบอุตสาหกรรมหรือการแผ่ขยายของโรงงาน แต่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับสังคมโดยรวม

mango sticky rice

ข้าวเหนียวมะม่วง; และมะม่วงสมูทตี้กับสังขยา

ของหวานที่เลิศรสสุดบรรยาย

ในระหว่างการเติบโตของการท่องเที่ยวนั้น อาหารไทยคือหนึ่งในอาหารซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับโลกถึงความน่าสนใจและรสชาติที่ล้ำเลิศ หนังสือพิมพ์และนิตยสารทั่วโลกต่างพากันกล่าวถึงรายละเอียดที่มาของรสชาติที่สุดแสนอร่อยและกลิ่นหอมอันละเมียดละไมของอาหารไทย สำหรับผม ยังไม่มีอะไรที่เด็ดสะระตี่ไปกว่าก๋วยเตี๋ยวน้ำดีๆสักถ้วยที่ใส่เนื้อหั่นชิ้นกำลังพอเหมาะลงไป ต่อด้วยจานเด็ดที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเป็นของหวานที่เลิศรสสุดบรรยายที่มนุษย์เคยสัมผัสมา ข้าวเหนียวมะม่วงราดน้ำกะทิหอมฉ่ำ แต่ผมบอกเลยว่าจะกินมะม่วงให้อร่อยต้องช่วงเดือนมีนาคมที่เข้าสู่ฤดูของมะม่วงพอดี รสชาติของมะม่วงนั้นจะหวานหอมพอเหมาะพอเจาะดีมาก ช่วงอื่นของปีผมไม่รู้สึกประทับใจมากนัก ถึงคุณจะสามารถหามะม่วงบริโภคได้แทบตลอดทั้งปี แต่ก็เหมือนการถูกยัดเยียดให้บริโภคผลผลิตทางอุตสาหกรรมการเกษตรที่ทำลายความดีงามของธรรมชาติด้วยผลจากการปรับแปลงพันธุกรรมผลิตผลทางการเกษตร ไม่ต่างจากอสูรร้ายหรือแฟรงเก้นสไตน์อาหารที่สูบเลือดสูบเนื้อชาวสวนจนแทบหมดตัวอย่างตะกละตะกรามของนายทุนจอมละโมบ

 

rice threshing

นวดข้าว เชียงใหม่ 1987

เกี่ยวกับแครอท, กระต่าย, แพะ, แกะและการเกษตร

พูดถึงของหวานก็พาลทำให้ผมนึกถึงเรื่องราวอย่างต่อเนื่องเป็นขบวนที่จะเขียนเกี่ยวกับผลไม้ต่างๆรวมถึงอาหาร ผมจะต้องพูดถึงอาหารต่อไปอีกมากอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องการนำแครอทมาปรับใช้กับอาหารพื้นเมืองในแทบจะทุกเมนูผมจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าคนในประเทศกลายเป็นกระต่ายตั้งแต่เมื่อไหร่ แกะ แพะ พอเข้าใจ แต่กระต่ายเนี่ยนะ แล้วทำไมการยัดเยียดแทรกแครอทลงในอาหารประจำชาติแบบดั้งเดิมหลายเมนูอย่างไม่มีที่มาที่ไปและความเข้ากันได้เลยนี่มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ผมไม่สามารถเข้าใจจริงๆ และนอกจากนี้ผมจะเพิ่มเรื่องราวเกี่ยวกับครัวไทยในตอนต่อๆไป จากผลไม้จนถึงอาหาร เราก็จะมาพูดถึงจุดเริ่มต้นของสิ่งเหล่านี้ซึ่งก็คือการเกษตร มันเป็นหัวข้อที่เรียบง่ายปลอดภัยที่จะเอ่ยถึงได้โดยไม่ไปสะกิดต่อมใคร มีประชากรจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในเมืองซึ่งห่างไกลจากพื้นที่การเกษตรเหล่านั้น และแทบจะไม่ทราบที่มาที่ไปของอาหารที่พวกเขาบริโภค ดูจากที่มีคนเป็นจำนวนมากพอที่ยังเข้าใจผิดคิดว่านมออแกนิกมาจากพืช การเกษตรกรรมนั้นเป็นแกนหลักและพื้นฐานของประเทศไทยในการเติบโตอย่างมั่นคงมาอย่างต่อเนื่องทุกยุคทุกสมัย ประเทศไทยส่งออกข้าวสู่ตลาดโลกเป็นอันดับหนึ่ง รวมถึงอาหารทะเล และเพราะการเกษตรนี่แหละที่เป็นเหตุผลให้ผมเดินทางมาเมืองไทย และนี่ก็คือเหตุผลที่ผมควรจะเริ่มต้นเขียนเรื่องราวเหล่านั้นสักที

Posted in ประเทศไทย, เรื่องราว.

เคนอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาหลายปีและได้เดินทางอย่างกว้างขวาง เขาสนุกกับการอ่านการเขียนการถ่ายภาพ, อาหาร, และการแบ่งปันเรื่องราว

One Comment

Comments are closed.